ม่านกันเสียง เป็นหนึ่งในสินค้า ฉนวนกันเสียง ถูกแบ่งได้เป็น 2 ประเภทตามสถานที่ที่นำไปติดตั้งใช้งาน คือม่านกันเสียงที่ใช้ในบ้านและม่านกันเสียงที่ใช้ในโรงงาน ทั้งสองแบบมีคุณสมบัติและราคาที่ต่างกันชัดเจน คือแบบที่ใช้ในบ้านจะมีความหนาและน้ำหนักน้อยกว่าแบบที่ใช้ในโรงงาน เนื่องจากต้องมีการเลื่อนเข้าออกแทบทุกวัน อีกทั้งตัวผ้าด้านนอกของม่านกันเสียงสำหรับติดตั้งในบ้านพักอาศัย จะมีความนุ่มและการให้ตัวที่มากกว่าม่านกันเสียงที่ติดตั้งกับเครื่องจักรหรือพื้นที่ผลิตภายในโรงงาน
ปัจจัยที่ทำให้ม่านกันเสียงทั้งสองแบบมีราคาแตกต่างกัน
- วัสดุที่นำผลิตม่านกันเสียง
ม่านกันเสียงที่ใช้ในบ้านสามารถนำผ้าหนามาเย็บร่วมกับวัสดุกันเสียงที่มีความหนาไม่มากได้ ราคาวัสดุหลักจึงเป็นลายผ้าด้านนอกที่เย็บติดกับแผ่นกันเสียง เพราะลวดลายผ้าบางแบบจะมีราคาต่อตารางเมตรต่างกันเป็นหลักร้อยหรือหลักพันบาท ส่วนม่านกันเสียงที่ใช้ในโรงงานนั้นจะมีวัสดุที่เน้นความแข็งแรงทนทานกว่า แต่จะมีสีและลวดลายของผ้าที่จะนำเย็บประกอบเป็นม่านกันเสียงให้เลือกน้อยกว่า
- ค่าการลดเสียงหรือการกันเสียง
ส่วนใหญ่ม่านกันเสียงที่ใช้ตามบ้านจะลดเสียงได้น้อยกว่าม่านกันเสียงที่ใช้ในโรงงาน เนื่องจากมีขนาดบางกว่า น้ำหนักน้อยกว่า เพราะต้องมีการเปิดและปิดม่านทุกวัน (หรือหลายครั้งต่อเดือน) ปัจจัยนี้ทำให้ราคาของม่านกันเสียงในบ้านมีราคาถูกว่าม่านกันเสียงในโรงงาน
- วิธีการติดตั้งและการดูแลรักษา
ม่านกันเสียงในบ้านจะติดตั้งได้ง่าย ส่วนใหญ่ไม่มีระบบกึ่งอัตโนมัติในการรูดม่าน การดูแลรักษาก็ไม่มีอะไรมากแค่ระวังเรื่องฝุ่นเท่านั้น แต่สำหรับม่านกันเสียงในโรงงานโดยเฉพาะที่มีรูปแบบการเปิดปิดแบบกึ่งอัตโนมัติ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเชิงป้องกัน (preventive maintenance) ให้ระบบสามารถทำงานได้ตามปกติอยู่เสมอ ราคาของม่านกันเสียงในโรงงานประเภทนี้จึงสูงกว่าเมื่อเทียบกับม่านกันเสียงที่ใช้ในบ้าน
- คุณสมบัติอื่นๆที่ม่านกันเสียงควรมี
ม่านกันเสียงแบบที่ใช้ในบ้านไม่ต้องการคุณสมบัติใดมากไปกว่าการกันเสียงและความง่ายในการใช้งาน (หลังจากเรื่องความปลอดภัย) ต่างจากม่านกันเสียงที่ใช้ในโรงงานที่มักต้องการคุณสมบัติอื่นๆเพิ่มนอกเหนือจากค่าการลดเสียง เช่น กันเชื้อรา กันน้ำ กันการลามไฟ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ราคาของม่านกันเสียงทั้งสองแบบแตกต่างกัน
- สภาพแวดล้อมที่ม่านกันเสียงติดตั้ง
แน่นอนว่าม่านกันเสียงแบบที่ใช้ในบ้านแทบไม่โดนกระทำจากปัจจัยอันใดเลย ต่างจากม่านกันเสียงที่ใช้ในโรงงาน ที่มีโอกาสเปื้อนน้ำมัน โดนไอกรด ปะทะกับสารเคมี หรือถูกสะเก็ดไฟในบางกรณี คุณสมบัติที่ต้องมีเพิ่มเข้ามานี้มีผลกับราคาที่ต่างกันของม่านกันเสียงทั้งสองแบบ
แนวทางการเลือกใช้ม่านกันเสียงโดยสังเขป
- ปลอดภัยเมื่อนำมาใช้งาน
ประการแรกในการเลือกใช้ม่านกันเสียงคือความปลอดภัย ทั้งปลอดภัยต่อระบบหายใจและปลอดภัยเมื่อเกิดไฟไหม้ เพราะผ้าม่านที่ไม่มีส่วนผสมของสารกันลามไฟ ก็คือผ้าทั่วไปที่สามารถลุกติดไฟและเป็นเชื้อเพลิงได้ดีในกรณีมีไฟไหม้เกิดขึ้น
- สะดวกและง่ายในชีวิตประจำวัน
หากม่านกันเสียงนั้นลดเสียงได้ แต่ยุ่งยากในการใช้งานจริงสำหรับชีวิตประจำวัน เช่น น้ำหนักมาก ผืนใหญ่ทำการสไล้ด์ไม่สะดวก อมฝุ่นหรือเกิดรอยคราบเปื้อนได้ง่าย คงยากที่จะทำใจหรือทนใช้ม่านกันเสียงแบบนี้ต่อไป แต่หากเป็นการติดตั้งม่านกันเสียงครั้งเดียวและไม่ได้เปิดม่านอีก ก็ลืมปัจจัยข้อนี้ไปได้เลย
- ลดเสียงรบกวนได้เป็นที่น่าพอใจ
ที่เราต้องหาม่านกันเสียงมาใช้งานก็เพื่อลดเสียงรบกวนเป็นหลัก หากม่านที่ได้มามีความสวยงามเข้ากับตัวบ้านหรืออาคาร แต่ไม่สามารถกันเสียงได้อย่างที่เราต้องการ ม่านกันเสียงนั้นก็คงไร้ประโยชน์นอกจากเป็นม่านกันแดดแทน การลดเสียงรบกวนไม่จำเป็นว่าต้องลดได้เป็น 10 dBA การลดเสียงแค่ 4-5 dBA ก็อาจจะเพียงพอต่อการลดเสียงรบกวน
- ราคาอยู่ในงบที่ตั้งไว้
หากเป็นม่านกันเสียงที่มีคุณสมบัติดีพร้อมทุกอย่างแต่ราคาสูงเกินเอื้อม เราก็คงไม่สามารถนำมาใช้งานได้ ราคาของม่านกันเสียงที่อยู่ในงบจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะส่วนใหญ่เราจะนึกถึงม่านกันเสียงต่อเมื่อเราโดนรบกวนจากเสียงภายนอก หรือเสียงดังภายในโรงงาน จึงมักเป็นเหตุการณ์ที่เราไม่ได้วางแผนรับมือหรือตั้งงบประมาณไว้